อาร์เธอร์ บรูซ แมคโดนัลด์ (อังกฤษ: Arthur Bruce McDonald) เกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2486 ณ เมืองซิดนีย์ รัฐโนวาสโกเชีย เป็นนักฟิสิกส์ชาวแคนาดา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สังเกตการณ์นิวตริโนซัดบิวรีในรัฐออนแทรีโอ แมคโดนัลด์เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี พ.ศ. 2558 ร่วมกับทะกะอะกิ คะจิตะ นักฟิสิกส์ชาวญี่ปุ่น ในฐานะ "การค้นพบปรากฏการณ์การแกว่งของนิวตริโน ซึ่งชี้ให้เห็นว่านิวตริโนนั้นมีมวล"
อาร์เธอร์ แมคโดนัลด์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและโทจากคณะฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยดัลฮาวซี ในรัฐโนวาสโกเชีย เมื่อปี พ.ศ. 2507 และ 2508 ตามลำดับ และศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์นิวเคลียร์ที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียเมื่อ พ.ศ. 2512
แมคโดนัลด์เริ่มต้นทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่วิจัยแห่งศูนย์ปฏิบัติการนิวเคลียร์ชอล์กริเวอร์ (CRNL) ในรัฐออนแทรีโอ ระหว่างปี พ.ศ. 2513–2525 ต่อมารับตำแหน่งอาจารย์สอนฟิสิกส์ให้แก่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันระหว่างปี พ.ศ. 2525–2532 และได้ย้ายมาสอนที่มหาวิทยาลัยแห่งควีนจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ แมคโดนัลด์ยังดำรงตำแหน่ง University Research Chair (URC) ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 และตำแหน่ง Gordon and Patricia Gray Chair ในสาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นตำแหน่งในมหาวิทยาลัยแห่งควีน เป็นหนึ่งในคณะกรรมการแห่งสถาบันฟิสิกส์ทฤษฎีเพริเมเทอร์ในรัฐออนแทรีโอ
แมคโดนัลด์และทีมวิจัยแห่งศูนย์สังเกตการณ์นิวตริโนซัดบิวรีได้ค้นพบปรากฏการณ์การแกว่งของอนุภาคนิวตริโนเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2544 โดยใช้อุปกรณ์ตรวจจับนิวตริโนที่ตั้งอยู่ในเหมืองเก่าลึกลงไปใต้ดินกว่า 2,100 เมตรใกล้เมืองซัดบิวรี รัฐออนแทรีโอ โดยทีมวิจัยพิสูจน์ได้ว่านิวตริโนจากดวงอาทิตย์นั้นสามารถแกว่งและเปลี่ยนรูปไปเป็น อิเล็กตรอนนิวตริโน (?e{\displaystyle \nu _{e}}) มิวออนนิวตริโน (??{\displaystyle \nu _{\mu }}) หรือเทานิวตริโน (??{\displaystyle \nu _{\tau }}) ได้จริง ผลงานดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ใน Physical Review Letters ซึ่งเป็นวารสารวิชาการเชิงวิทยาศาสตร์โดยสมาคมฟิสิกส์แห่งอเมริกา และได้รับการพิจารณาว่าเป็นผลงานที่สำคัญมากชิ้นหนึ่ง ผลงานชิ้นนี้ได้พิสูจน์และแก้ปัญหาของนิวตริโนที่มาจากดวงอาทิตย์โดยใช้คำอธิบายจากปรากฏการณ์การแกว่งของนิวตริโน